Thursday, July 9, 2009

สธ.ออกคำแนะนำหวัด 09 ฉ.8 แนะวิธีดูแลตัวเองเมื่อป่วย

กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศคำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) หรือหวัด 2009 ฉบับที่ 8 ระบุเป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง ประเทศไทยส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมแนะวิธีการดูแลตัวเองเมื่อป่วย

โดยประกาศฉบับนี้ของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว โดยโรคมีความรุนแรงปานกลาง ประเทศไทยส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีรายงานมากกว่า 60 จังหวัดแล้ว ขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา รองมาเป็นคนวัยทำงาน

คำแนะนำทั่วไป

ประชาชนทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจโรคที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก รู้วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ โดยการติดตามข้อมูลคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และฝึกนิสัยไม่ใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา หรือจับต้องใบหน้า ถ้าจำเป็นควรใช้กระดาทิชชูจะปลอดภัยกว่า ดูแลตนเองหรือคนในครอบครัวที่ป่วยได้ และป้องกันไม่แพร่เชื้อให้คนรอบข้าง โดยการหยุดเรียน หยุดงาน ปิดปากจมูกเวลาไอจามด้วยกระดาษทิชชู สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด และลดผลกระทบด้านต่างๆ ได้มากที่สุด

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะมีอาการป่วยใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นทุกปี คือมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย มีรายงานอาการสมองอักเสบ 4-5 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (95%) จะมีอาการทุเลาขึ้นตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5-7 วัน จึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยน้อยราย (5%) ที่มีอาการป่วยรุนแรงซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ไอมากจนเจ็บหน้าอก เกิดปอดบวม (หายใจถี่ หอบ เหนื่อย) นั้นพบว่า ส่วนใหญ่ (70%) เป็นกลุ่มผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ โรคเลือด ไต เบาหวาน ฯลฯ) ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ (โรคมะเร็ง ฯลฯ) โรคอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่ง (30%) ที่มีอาการรุนแรงแต่ไม่สามารถสอบสวนหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จึงต้องรีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทันที

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงที่บ้าน

  • หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึมหรืออ่อนเพลียมาก และพอรับประทานอาหารได้ สามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านได้ โดยปฏิบัติดังนี้
  • ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก ไม่ออกไปนอกบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย หรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
  • แจ้งสถานศึกษาหรือที่ทำงานทราบ เพื่อจะได้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของเภสัชกร หรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์
  • ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
  • เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ โดยการเช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เน้นการเช็ดลดไข้บริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขา เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัว และห่มผ้าให้อบอุ่น
  • ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด
  • พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียง
  • นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • หากอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ไอมากจนเจ็บหน้าอก เกิดปอดบวม (หายใจถี่ หอบ เหนื่อย) ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

การป้องแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ในบ้าน

  • ผู้ป่วยควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกห้องจนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
  • รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น หากอาการทุเลาแล้ว อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
  • ปิดปากจมูก เวลาไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู แล้วทิ้งทิชชูลงในถังขยะ และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่หรือบ่อยๆ
  • ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
  • ผู้ดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย
  • คนอื่น ๆ ควรอยู่ไกลจากผู้ป่วยประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยประมาณหนึ่งช่วงแขน

แหล่งข้อมูลการติดต่อเพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

  1. กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0 2245 8106, 0 2246 0358 และ 0 2354 1836
  2. ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย ติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 กรกฎาคม 2552 12:31 น.

Wednesday, July 8, 2009

ไทยติดอันดับผู้ป่วยสูงสุดในเอเชีย!

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า
ผู้เสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วันนี้อีก 2 ราย นับเป็นรายที่ 10 และ 11 ที่พบในประเทศ
ซึ่งรายที่ 10 นั้น เป็นชายชาวพัทลุงที่ไปเสียชีวิตที่ จ.ภูเก็ต ส่วนรายที่ 11 นั้น เป็นหญิงวัย 20 ปี
เสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.52 โดยเบื้องต้นทราบว่าป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ
ส่วนรายละเอียดนั้น แพทย์เจ้าของไข้แต่ละรายจะมีการแถลงให้ทราบอีกครั้ง

สำหรับยอดผู้ติดเชื้อวันนี้พบเพิ่มอีก 290 ราย มากที่สุดตั้งแต่เริ่มพบผู้ป่วยในประเทศ
ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อรวม 2,714 ราย ส่วนใหญ่หายขาดแล้ว เหลือเพียง 110 ราย
ที่ยังต้องรอดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาล และคาดว่าจะพบเพิ่มอีก 2-3 เท่า ในวันพรุ่งนี้
หลังประชาชนกลับจากหยุดยาว
แต่ยืนยันไม่กังวลและเชื่อในความสามารถของแพทย์ว่าจะให้การรักษาประชาชนได้อย่างเต็มที่

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/

หน้ากากป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009


อันนี้เป็นหน้ากากที่เค้าเสนอว่าป้องกันโรคได้ครับ จะหาซื้อได้ทั่วไปได้มั้ยเนี้ย !!

Viramask N99 คือหน้ากากสำหรับป้องกันอันตรายจากแบคทีเรีย ผุ่นละออง และไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพการกรองสูงสุด 0.075μm (ขนาดอนุภาคไวรัส) ด้วยเทคโนโลยี Faceseal ที่คิดค้นและวิจัยเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

Viramask N99 แตกต่างจากหน้ากากทั่วไปตามท้องตลาด เป็นผลิตภัณฑ์แรกและหนึ่งเดียวที่สามารถป้องกันเชื้อหวัดมรณะได้ถึง 99.95% ได้รับการรับรองจาก CDC/NIOSH US. Goverment ซึ่งเป็นองค์กรรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมและป้องกันโรคระบาดร้ายแรงของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention / National Institute for Occupational Safety and Health ) นอกจากนั้น Viramask ยังได้ผ่านกระบวนการทดสอบโดย FDA (United States the Food and Drug Administration) โดยการทดลองจากศูนย์ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เนลสัน

ด้วยประสิทธิภาพอันดีเยี่ยมที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ส่งผลให้ Viramask N99 ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการนำมาใช้เพื่อป้องกันโรคระบาดไข้หวัดมรณะ 2009 โดยในประเทศญี่ปุ่นมียอดขายมากถึง 10 ล้านชุดในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

องค์กรอนามัยโลกแนะวิธีป้องกันตนเองจาก ไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ ชนิด A 2009 H1N1 ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก

องค์การอนามัยโลกก็ออกมาย้ำอีกครั้งว่า การบริโภคเนื้อหมูจะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยระบุว่า ไวรัสดังกล่าวจะตายในอุณหภูมิ 70 องศาสเซลเซียส หากมีการปรุงสุกแล้วจะไม่มีการติดเชื้อใดๆ ขณะเดียวกันก็เสียงถามจากประชาชนมากมายถึงวิธีเบื้องต้นในการป้องกันตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดต่อของสหรัฐฯหรือ CDC ได้บอกวิธีง่ายๆก็คือ

1.ต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นประมาณ 20 ครั้งต่อวัน เนื่องจากพบว่า การติดเชื้อร้อยละ 80 เกิดจากการสัมผัสมือ ถ้าไม่สามารถล้างมือตามปกติได้ก็ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 60%

2.สวมหน้ากากป้องกัน ทาง CDC แนะนำหน้ากากยี่ห้อ เวน วีร่า รุ่น N99 ซึ่งมีขนาดความกว้าง 100 คูณจะช่วยป้องกันได้ดีกว่า และเป้นหน้ากากที่ผลิตออกมาเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสชนิดแรกของโลก สวมใส่ง่าย สามารถพูดและหายใจได้สะดวกและพูด ควรจะพกติดตัวกรณีต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ

3.หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม
แต่หากจำเป็นจะต้องไปจริงๆก็ให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามอยู่ห่างจากบุคคลที่คาดว่าจะติดเชื้อ 6 ฟุต และสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา

4.ตื่นเต้นและเฝ้าระวังตลอดเวลา หากรู้สึกผิดปกติเช่นมีอาการไข้หรือเป็นหวัด ให้ไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากไข้หวัดหมู มีอาการคล้ายกับไข้หวัดปกติ

5.ตัวยาที่เชื้อไวรัสตัวนี้ ตอบสนองมี 2 ชนิดคือ ทามิฟลู และ รีเลนซ่า และมีอาการดื้อต่อยาต้านไวรัสสองชนิดได้แก่ ซิมมีเทรล และ ฟลูมิดีน

จาก
http://www.vibhavadi.com

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (อังกฤษ: 2009 new-strain influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอชวันเอ็นวัน [63](อังกฤษ: influenza A (H1N1)) ไข้หวัดใหญ่จากสุกร (อังกฤษ: swine-origin influenza) ก็เรียก ได้ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

โดยเริ่มปรากฏครั้งแรกในนครเม็กซิโกซิตีกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเม็กซิโก (ช่วงแรกจึงเรียกว่า ไข้หวัดเม็กซิโก) และในพื้นที่อีกหลายส่วนของสหรัฐอเมริกา อนึ่ง หน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งยังรายงานว่าในประเทศนิวซีแลนด์ยังพบกรณีคล้ายจะเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวอีกสิบกรณี แต่ยังไม่มีการรับรองรายงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อีกหนึ่งพันรายทั่วโลก และเนื่องจากยังไม่อาจรับรองว่าผู้ป่วยดังกล่าวทุกคนเป็นไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกจึงเรียกภาวะเช่นนี้โดยรวมว่า "ภาวะเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่" (อังกฤษ: influenza-like illnesses)

ภาวะเสี่ยงในการติดต่อ

ในสภาวะปัจจุบันนั้น มีโอกาสที่ไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนสูงมากและเริ่มมีการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราเสี่ยงจากการรับประทานเนื้อสุกรและอาหารที่ประกอบจากเนื้อสุกรนั้นไม่มีโอกาสเลย [66] หากป่วยหรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด และพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ประชาชนทั่วไปควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก ผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ล้างมือบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาด

[แก้]อาการและการสังเกต

อาการป่วยของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เม็กซิโกนั้น จะไม่แตกต่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดทั่วๆ ไป ลักษณะของผู้ป่วยจะคล้ายกับเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก ต้องนำมาแยกเชื้อดูในห้องปฏิบัติการ เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป เชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือ และสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อสุกร (เนื้อหมู)

[แก้]การรักษา

องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังไม่สามารถต้านเชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในขณะนี้ แต่จากผลการทดสอบในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่สามารถรักษาได้ด้วยยาทามิฟลู และยารีเลนซาเป็นยาต้านไวรัสที่สามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในขณะนี้ แต่ต้องรับยาภายใน 48 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ได้อีกในอนาคต

[แก้]ระดับการระบาด

ระดับการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบันอยู่ในระดับ 6 (ระบาดทั่วโลก) และ 76 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ จำนวนรวมกว่า 35,928 คน [1] (ข้อมูล ณ วันที่ 16/06/52)


ที่มา wikipedia.org

4 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

อ.ดร.ริเชิร์ด เบสเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC)
แนะนำวิธีป้องกันไว้อย่างนี้

(1). ล้างมือด้วยสบู่
หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ > ข้อนี้สำคัญที่สุด


(2). ปิดปาก-จมูกด้วยมือทันทีที่ไอหรือจาม
เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ (ถ้าปิดด้วยผ้าปิดปาก-จมูกจะดีกว่านี้)


(3). คนที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (flu-like)
เช่น ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ ฯลฯ ควรหยุดงาน อยู่กับบ้าน ใช้ยานพาหนะแยก
ไม่ควรใช้ยานพาหนะขนส่งมวลชน และไปหาหมอใกล้บ้าน


(4). ไม่เข้าสังคม (social distancing)
= ไม่เข้าไปในที่ที่มีคนแออัด โดยเฉพาะห้องแอร์ ที่ที่คนอยู่กันมากๆ เป็นกลุ่ม
เช่น สถานีขนส่ง ฯลฯ


ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

ที่มา

Thank Reuters > Maggie Fox. Mohammad Zargham ed. Worried about swine flu?
Wash your hands> April 25, 2009.


นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง
สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้.
ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > > 27 เมษายน 2552.


ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค
ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

Q&A: ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)

QA: ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)

ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร

  • เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน
  • ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร
  • เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน
  • เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย
  • เริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ
  • ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”

เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศใดบ้าง

  • ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา เริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (ณ วันที่ 29 เมษายน 2552) มีผู้ป่วยที่มีผลยืนยัน ทางห้องปฏิบัติการ 257 รายใน 11 ประเทศ ในเม็กซิโก 97 ราย เสียชีวิต 7 ราย สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย 109 รายใน 11 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 14 ราย เท็กซัส 26 ราย นิวยอร์ก 50 ราย แคนซัส 2 ราย แมสซาชูเซทส์ 2 ราย มิชิแกน 1 ราย โอไฮโอ 1 ราย อริโซนา 1 ราย อินเดียนา 1 ราย และ เนวาดา 1 ราย นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยติดเชื้อในออสเตรีย 1ราย แคนาดา 19 ราย เยอรมนี 3 ราย อิสราเอล 2 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย สเปน 13 ราย และ สหราชอาณาจักร 8 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
  • ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โรคได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

คนติดโรคนี้ได้อย่างไร

  • คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง
  • บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น
  • ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง

  • อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น
    - ไข้สูง
    - ปวดศีรษะ
    - ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
    - ไอ
    - เจ็บคอ
    - อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยหลายรายในเม็กซิโกมีอาการปอดอักเสบรุนแรง (หอบ หายใจลำบาก) และเสียชีวิต

มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

  • ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น
  • แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine
  • ยาต้านไวรัส oseltamivir จะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้

ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่

  • ประเทศไทยได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับการรักษาผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาที่นี้ไว้พอเพียง เพื่อการควบคุมการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยสำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 3,250,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 325,000 ราย)
  • และองค์การเภสัชกรรมกำลังนำวัตถุดิบที่สำรองมาผลิตยานี้ (GPO-A-Flu®) ได้สำหรับ 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ในอีก 4 วันข้างหน้า
  • นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดหากเกิดการระบาดใหญ่ ได้อีก 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ด้วย

มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้หรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว
  • ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้

ก่อนเดินทางไปในพื้นที่ระบาด จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อการป้องกันหรือนำยาติดตัวไปด้วยหรือไม่

  • ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ โดยต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน
  • สำหรับประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ระบาด กระทรวงสาธารณสุข ไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกัน หรือนำติดตัวไปรับประทานเอง เนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศรีษะ บางรายอาจพบอาการทางจิตประสาทเป็นภาพหลอนได้ กรณีเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้
  • หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ในพื้นที่ทันที เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่อไป

การเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนไปหรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ได้
  • อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

1. การเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาด

  • หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง
  • แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ให้
    - หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
    - ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม
    - ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
    - หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์
    - ปฏิบัติตาม คำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด

2. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด

  • จะได้รับการแนะนำด้านสุขภาพจากทีมแพทย์ โดยให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และสังเกตอาการตนเองทุกวัน
  • หากเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะอนุญาตให้รักษาตัวที่บ้านได้ ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย

3.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา
3.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
3.3 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน หรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วและหน่วยงานรับผิดชอบเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที

4. ติดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

  • รวมทั้งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
  • หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่
    - ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994
    - ศูนย์ปฏิบัติการ ฯ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333

กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง

มาตรการสำคัญ ได้แก่

  • การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง
  • การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ
  • การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น
  • การสื่อสารความเสี่ยง
  • การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่

  • หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง
  • ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยขณะไอจามได้

ผู้ป่วยต้องรับการรักษาที่ใด

  • ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • หากมีอาการอ่อนๆ ควรขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน หรือขอรับคำแนะนำจากศูนย์ฮ็อตไลน์กรมควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการสนับสนุนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับสถานพยาบาล อย่างไร

ภาวะปกติ

  • โรงพยาบาลภาครัฐ จะได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ตามโควต้าที่กำหนดไว้ ใช้ระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) ในการสนับสนุนส่งยาตรงถึงโรงพยาบาลเมื่อปริมาณยาลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
  • โดยมีเงื่อนไขการใช้ยาตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2551 ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป

ภาวะการระบาด

  • การสำรองยาต้านไวรัสในประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ทำการสำรองยาในส่วนกลาง และจะทำการแจกจ่ายยาให้โรงพยาบาลของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
  • ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม เป็นกรณีๆ ไป
  • หากเกิดภาวะขาดแคลน องค์การอนามัยโลกและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จะมีการพิจารณาจัดสรรยา วัคซีน รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นจากคลังสำรองระดับโลกและภูมิภาคให้กับประเทศต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย ควรปฏิบัติอย่างไร

ท่านสามารถติดตามข้อมูล และ รายละเอียดมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้ที่

เว็บไซต์

โทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994
  • ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
    - หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
    - Website http://www.moph.go.th/flu/flu.htm
  • ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
    - หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง
    - Website www.ddc.moph.go.th
  • เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
  • เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th
  • เว็บไซต์กรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th
    เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.dmsc.moph.go.th

ที่มา

14 วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009

ค้นเจอจากในเว็บครับ เห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาเผยแพร่ครับ
------------------------------------------------------------------------------
เว็บไซต์นิตยสาร "Health (= สุขภาพ)" ตีพิมพ์เรื่อง
วิธีป้องกันโรคหวัดหมู (= swine flu จากเม็กซิโก) +หวัดไม่หมู (= หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นๆ)
ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

(1). ไม่จับมือ (shake hands)
อ.นพ.มาร์ค เมนเกล มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ สหรัฐฯ แนะนำว่า ให้ล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังจับมือทักทายกัน

(2). นอนให้พอ...
การนอนให้พอ และนอนไม่ดึก ช่วยให้ภูมิต้านทานโรคแข็งแรง

(3). ฉีดวัคซีน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ชอบระบาดในหน้าหนาวได้ แต่ป้องกันหวัดทั่วไป-หวัดหมูไม่ได้

(4). กินอาหารสุขภาพ
ผักผลไม้ทั้งผล (น้ำผลไม้ปั่นรวมกากใช้ได้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้กรองกาก)

(5). ออกกำลัง
การออกกำลังทำให้ภูมิต้านทานโรคแข็งแรง
ถ้าเป็นไข้... อย่าออกกำลังอย่างหนัก เนื่องจากจะเพิ่มเสี่ยงอันตรายจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (ทำให้ตายได้) และอย่านอนทั้งวัน... ให้ลุกขึ้นนั่ง ยืน เดินบ้าง เพื่อให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดีขึ้น

(6). อยู่ไกลๆ
อยู่ให้ไกลคนป่วย อย่างน้อย 2 เมตร ไม่เข้าไปในห้องแอร์ ไม่ไปในที่คนแออัด
เช่น ไม่ร่วมประท้วง (ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีใด) ฯลฯ

(7). ใช้เจลแอลกอฮอล์
ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เมื่อไม่มีโอกาสล้างมือด้วยสบู่

(8). ไม่สูบ
ไม่สูบบุหรี่และไม่หายใจเอาควันที่คนอื่นสูบเข้าไป บุหรี่ทำลายเซลล์ขน (cilia) ซึ่งช่วยทำความสะอาดทางเดินหายใจ คล้ายๆ กับการกวาดบ้าน... เมื่อเซลล์ขนลดลง หรือทำหน้าที่ได้ไม่ดีจะทำให้ทางเดินหายใจสกปรก และยังทำให้ภูมิต้านทานโรคทางเดินหายใจตกต่ำลงอีกด้วย

(9). ไม่จุ่ม
การกินอาหารประเภทจิ้มจุ่ม (dippers) ด้วยกันหลายๆ คนอาจทำให้น้ำมูกน้ำลายตกลงไปในน้ำจิ้ม ทำให้ติดเชื้อได้ทางที่ดีคือ ใช้ช้อนกลาง และตักแบ่งน้ำจิ้มกันตั้งแต่แรก

(10). ทำความสะอาด
อย่าลืมทำความสะอาดกระเป๋า (กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ฯลฯ) เพื่อลดการปริมาณเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมาได้

(11). ไม่กัดเล็บ
การกัดเล็บเพิ่มโอกาสติดเชื้อจากนิ้วมือ-เล็บ

(12). ยิ้ม
ศ.นพ.ชาร์ล คาร์เนตสกี แห่งมหาวิทยาลัยวิลเคส แนะนำว่า ความสุขเล็กๆ น้อยๆ
(ที่ได้มาโดยชอบธรรม) ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของคนเราดีขึ้น
วิธีเสริมสร้างความสุขง่ายๆ ได้แก่ ยิ้มบ่อยๆ (อ่านเรื่องนี้ไป-ยิ้มไปก็ได้ครับ...) หัวเราะพอประมาณ มองโลกในแง่บวก (ฝึกได้ด้วยการชมคนรอบข้างอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร) เล่นกับสัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา น้องแมว ฯลฯ

(13). ยกศอกเวลาจาม
เวลาไอหรือจาม... ให้ยกแขนขึ้นปิดปาก-จมูก อย่าใช้มือ เพราะจะมีโอกาสติดเชื้อใหม่ๆ เช่น หวัดพันธุ์ใหม่ (มีเป็นร้อยๆ เลย) ฯลฯ จากมือ

(14). ถ้าป่วยไปแล้ว...
ควรพักงาน อยู่บ้าน ดื่มน้ำให้พอ เตรียมกระดาษชำระ (ทิชชู) ไว้ให้พร้อม...
ไอหรือจามใส่ทิชชูแล้วทิ้งในถุงที่ปิดปากถุงได้ เพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังคนรอบด้าน
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

ที่มา

Thank Health > Stephanie Silk. 14 ways to avoid colds and flu January 15, 2009.
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > > 28 เมษายน 2552.

ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.