Wednesday, July 8, 2009

Q&A: ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)

QA: ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)

ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร

  • เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน
  • ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร
  • เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน
  • เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย
  • เริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ
  • ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”

เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศใดบ้าง

  • ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา เริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (ณ วันที่ 29 เมษายน 2552) มีผู้ป่วยที่มีผลยืนยัน ทางห้องปฏิบัติการ 257 รายใน 11 ประเทศ ในเม็กซิโก 97 ราย เสียชีวิต 7 ราย สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย 109 รายใน 11 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 14 ราย เท็กซัส 26 ราย นิวยอร์ก 50 ราย แคนซัส 2 ราย แมสซาชูเซทส์ 2 ราย มิชิแกน 1 ราย โอไฮโอ 1 ราย อริโซนา 1 ราย อินเดียนา 1 ราย และ เนวาดา 1 ราย นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยติดเชื้อในออสเตรีย 1ราย แคนาดา 19 ราย เยอรมนี 3 ราย อิสราเอล 2 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย สเปน 13 ราย และ สหราชอาณาจักร 8 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
  • ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โรคได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

คนติดโรคนี้ได้อย่างไร

  • คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง
  • บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น
  • ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง

  • อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น
    - ไข้สูง
    - ปวดศีรษะ
    - ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
    - ไอ
    - เจ็บคอ
    - อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยหลายรายในเม็กซิโกมีอาการปอดอักเสบรุนแรง (หอบ หายใจลำบาก) และเสียชีวิต

มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

  • ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น
  • แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine
  • ยาต้านไวรัส oseltamivir จะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้

ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่

  • ประเทศไทยได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับการรักษาผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาที่นี้ไว้พอเพียง เพื่อการควบคุมการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยสำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 3,250,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 325,000 ราย)
  • และองค์การเภสัชกรรมกำลังนำวัตถุดิบที่สำรองมาผลิตยานี้ (GPO-A-Flu®) ได้สำหรับ 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ในอีก 4 วันข้างหน้า
  • นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดหากเกิดการระบาดใหญ่ ได้อีก 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ด้วย

มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้หรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว
  • ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้

ก่อนเดินทางไปในพื้นที่ระบาด จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อการป้องกันหรือนำยาติดตัวไปด้วยหรือไม่

  • ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ โดยต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน
  • สำหรับประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ระบาด กระทรวงสาธารณสุข ไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกัน หรือนำติดตัวไปรับประทานเอง เนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศรีษะ บางรายอาจพบอาการทางจิตประสาทเป็นภาพหลอนได้ กรณีเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้
  • หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ในพื้นที่ทันที เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่อไป

การเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนไปหรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ได้
  • อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

1. การเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาด

  • หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง
  • แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ให้
    - หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
    - ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม
    - ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ
    - หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์
    - ปฏิบัติตาม คำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด

2. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด

  • จะได้รับการแนะนำด้านสุขภาพจากทีมแพทย์ โดยให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และสังเกตอาการตนเองทุกวัน
  • หากเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะอนุญาตให้รักษาตัวที่บ้านได้ ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย

3.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา
3.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
3.3 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน หรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วและหน่วยงานรับผิดชอบเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที

4. ติดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

  • รวมทั้งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
  • หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่
    - ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994
    - ศูนย์ปฏิบัติการ ฯ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333

กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง

มาตรการสำคัญ ได้แก่

  • การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง
  • การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ
  • การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น
  • การสื่อสารความเสี่ยง
  • การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่

  • หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง
  • ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยขณะไอจามได้

ผู้ป่วยต้องรับการรักษาที่ใด

  • ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • หากมีอาการอ่อนๆ ควรขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน หรือขอรับคำแนะนำจากศูนย์ฮ็อตไลน์กรมควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการสนับสนุนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับสถานพยาบาล อย่างไร

ภาวะปกติ

  • โรงพยาบาลภาครัฐ จะได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ตามโควต้าที่กำหนดไว้ ใช้ระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) ในการสนับสนุนส่งยาตรงถึงโรงพยาบาลเมื่อปริมาณยาลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
  • โดยมีเงื่อนไขการใช้ยาตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2551 ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป

ภาวะการระบาด

  • การสำรองยาต้านไวรัสในประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ทำการสำรองยาในส่วนกลาง และจะทำการแจกจ่ายยาให้โรงพยาบาลของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
  • ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม เป็นกรณีๆ ไป
  • หากเกิดภาวะขาดแคลน องค์การอนามัยโลกและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จะมีการพิจารณาจัดสรรยา วัคซีน รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นจากคลังสำรองระดับโลกและภูมิภาคให้กับประเทศต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย ควรปฏิบัติอย่างไร

ท่านสามารถติดตามข้อมูล และ รายละเอียดมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้ที่

เว็บไซต์

โทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994
  • ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
    - หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
    - Website http://www.moph.go.th/flu/flu.htm
  • ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
    - หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง
    - Website www.ddc.moph.go.th
  • เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
  • เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th
  • เว็บไซต์กรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th
    เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.dmsc.moph.go.th

ที่มา

No comments: